การดำเนินคดีในศาล (เยาวชนและครอบครัว)
เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด และคดีนั้นต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว ให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมหรือควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนนั้น แจ้งการจับกุมหรือควบคุมไปยังผู้อำนวยการสถานพินิจฯ ที่อยู่ในเขตอำนาจ ตลอดจนบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่โดยไม่ชักช้า โดยระหว่างนี้กฎหมายกำหนดให้พนักงาน สอบสวนจะต้อง "ถามปากคำ" เด็กหรือเยาวชนผู้ต้องหาว่ากระทำผิดนั้น ให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบ เมื่อพ้นกำหนดตามระยะเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องส่งตัวเด็กหรือเยาวชนผู้นั้นไปยังสถานพินิจและคุ้มครอง เด็กและเยาวชนในทันที ระหว่างนั้นพนักงานสอบสวนเองก็จะทำการสอบสวนสรุปสำนวนพร้อมความเห็นในทางคดี แก่พนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนั้นต่อศาลให้ทันภายใน กำหนด 30 วัน นับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้วพนักงานอัยการจะฟ้องคดีนั้นต่อศาลไม่ได้เว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด
ดังนั้นเมื่อไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาได้ทันภายในกำหนดเวลา 30 วัน พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีจะต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อ ศาล ซึ่งการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องนั้น ก็เพื่อขยายระยะเวลาการสอบสวนออกไปนั่นเอง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการที่พนักงานสอบสวนจะต้องสอบปากคำพยานอีกหลายปาก รอรายงานการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา รวมถึงรายงานสืบเสาะข้อ เท็จจริงจากสถานพินิจ ฯ โดยการขอผัดฟ้องแต่ละครั้ง ศาลจะอนุญาตให้ครั้งละไม่เกิน 15 วัน ซึ่งหากเป็นกรณีความผิดอาญานั้นมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฏหมายกำหนดไว้ให้ จำคุกเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 5 ปี จะมีโทษปรับหรือไม่ก็ตาม จะขอผัดฟ้องได้ครั้งละไม่เกิน 15 วัน แต่จะขอได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ( ครั้งที่ 1 และ 2 ) แต่ถ้าความผิดนั้นมีอัตราโทษให้จำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปี จะมีโทษปรับหรือไม่ก็ตาม
เมื่อพนักงานสอบสวนได้ขอผัดฟ้องครบสองครั้งแล้วแต่ไม่สามารถสอบสวนได้ทัน ตามกำหนด และจะขอผัดฟ้องต่อไปอีก ศาลจะอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกก็ต่อเมื่อ พนักงานสอบสวนนำพยานเข้าเบิก ความประกอบ อ้างเหตุจำเป็น ซึ่งหากเป็นที่พอใจแก่ศาล ศาลก็มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกิน 15 วัน แต่ไม่ เกิน 2 ครั้ง (ครั้งที่ 3 และ 4) ซึ่งในชั้นนี้กฎหมายให้สิทธิแก่เด็กและเยาวชนที่จะทำการตั้ง "ที่ปรึกษากฏหมาย" เพื่อแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยานได้ แต่อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตว่าหากคดี นั้นมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 6 เดือน พนักงานสอบสวนจะขอผัดฟ้องคดีนั้นไม่ได้
ใน ระหว่างที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในการควบคุมดูแลของสถานพินิจ ฯ หรือคดียังอยู่ในระยะเวลาผัดฟ้องอยู่นั้น กรณีดังกล่าวยังเป็นขั้นตอนก่อนที่จะฟ้องคดีต่อศาล ยังไม่ถือว่าจำเลยอยู่ในเขตอำนาจศาล ผู้อำนวยการสถานพินิจ ฯ จึงมีอำนาจที่จะให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือส่งไปควบคุมที่สถานพินิจฯ ก่อนใน ระหว่างสอบสวนได้ แต่เมื่อพนักงานสอบสวน ได้ทำการสอบสวนคดีเสร็จแล้วก็จะส่งเรื่องไปยัง พนักงานอัยการต่อไป เมื่อพนักงานอัยการเห็นว่าคดีควรสั่งฟ้อง และได้นำตัวผู้ต้องหามาฟ้องต่อศาล เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว เด็กหรือเยาวชนนั้นก็ตกเป็นจำเลย และถือว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลซึ่งศาลจะเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว หรือสั่งควบคุมตัวไว้ในระหว่างพิจารณาก็ได้
ในการพิจารณาคดีของศาล ในคดีที่เด็กหรือเยาวชนตกเป็น ผู้กระทำความผิดนั้น กฏหมายกำหนดว่าองค์คณะของผู้พิพากษานอกจากต้องประกอบ ด้วยผู้พิพากษา 2 คนแล้ว ยังต้องประกอบด้วย ผู้พิพากษาสมทบอีก 2 คน ซึ่งต้องเป็นสตรีไม่น้อยกว่า 1 คนจึงจะเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ นอกจากนั้นในการพิจารณาคดีของศาล เนื่องจากคดีบางประเภท มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจเด็ก กฏหมายจึงให้พิจารณาเป็น การลับ เปิดโอกาสให้เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้น เข้ารับฟังการพิจารณาคดีของศาลได้ ไม่เปิดโอกาสให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผยที่ให้ประ ชาชนทั่วไปเข้ารับฟังได้ ดังเช่นคดีอาญาในศาลทั่วไปทั้งศาลไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาอย่างเคร่งครัด ในชั้นพิจารณานี้จำเลยอาจได้รับแต่งตั้งที่ปรึกษากฏหมายแก้ต่างเช่นเดียว กับทนายความเพื่อช่วยเหลือในการรักษาและคุ้มครองสิทธิของจำเลยตามที่ กฏหมายกำหนดไว้ ในกรณีที่จำเลยไม่มีที่ปรึกษากฏหมายให้ศาลตั้งที่ปรึกษาให้ เว้นแต่จำเลยไม่ ต้องการ และศาลเห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดี ศาลจะดำเนินคดีไปโดยจำเลยไม่ต้องมีที่ปรึกษากฏหมายก็ได้
ศาลเยาวชนและครอบครัวมีมาตรการและเจตนารมณ์ในการมุ่งที่จะแก้ไขปัญหา ฟื้นฟู ให้เด็กหรือเยาวชนกลับตัวเป็นคนดี มากกว่าการลงโทษ เนื่องจากความผิดส่วน ใหญ่ เด็กกระทำทำไปด้วยความหลงผิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดวุฒิภาวะ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดการไตร่ตรองผลเสียหายที่จะตามมา ส่วนใหญ่เกิดจากการชักชวนจากบุคคลอื่น หรือจากสภาพแวดล้อมที่บีบ บังคับ เช่นจากสภาพครอบครัว การศึกษา ฐานะ ความเป็นอยู่ และปัจจัยอื่นๆ อันเป็นสาเหตุให้เด็กต้องการทำความผิดขึ้น
ดังนั้นเพื่อให้เด็กหรือเยาวชนมีโอกาสได้ปรับปรุง หรือแก้ไขตนเอง และสำนึกในการกระทำผิดที่ตนได้กระทำขึ้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 ได้กำหนดให้ศาลอาจมีดุลพินิจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษในทาง อาญาได้ โดยศาลอาจเปลี่ยนโทษจำคุก เป็นการส่งตัวจำเลยไปกักและอบรม หรือฝึกและอบรม ยังสถานพินิจฯ ตามกำหนดระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ เพื่อขัดเกลา อบรม นิสัย ฟื้นฟูแก้ไข ให้เด็กฯนั้นมีความประพฤติในทางที่ดีต่อไป หรือหากความผิดนั้นเป็นความผิด เพียงเล็กน้อยและเป็นการกระทำผิดครั้งแรก ก็อาจให้มีการคุมประพฤติเด็กไว้ โดยให้บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ควบคุมดูแลเด็ก สอดส่องดูแลเด็ก แล้วมารายงานตัวต่อศาลเป็นระยะๆ แทนการส่งตัวไปยังสถานพินิจฯก็ได้
---------------------------
ที่มา : http://www.lpnjc.coj.go.th/info.php?info=sub_menu&cid=19&pm=11 โดย นางสาวกัญญาณัฐ แสงหงษ์(นิติกรปฏิบัติการ กลุ่มงานไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท รักษาการในตำแหน่งกลุ่มงานประชาสัมพันธ์และบริการประชาชน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลำพูน)