มารู้จัก "ศาล" ในประเทศไทยกันเถอะ
นอกเหนือจาก “ศาลยุติธรรม” และ “ศาลทหาร” ที่มีอยู่เดิมภายหลังการบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปรากฏว่า ได้มีการจัดระบบศาลในประเทศไทย ครั้งใหญ่ โดยมีการจัดตั้งศาลเพิ่มขึ้นใหม่ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ซึ่งแต่ละศาลก็มีอำนาจพิจารณาคดีแตกต่างกันไป ดังนี้
1. ศาลยุติธรรม เป็นศาลที่มีหน้าที่หลักในการพิจารณาข้อพิพาทไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา และยังเป็นศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป กล่าวหากมีข้อพิพาทใดขึ้น แต่ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลใดศาลหนึ่ง ประชาชนสามารถนำมาฟ้องร้องยังศาลยุติธรรมได้
2. ศาลทหาร เป็นศษลที่มีหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหารและคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
3. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลที่มีหน้าที่หลักในการพิจารณาคดีอับเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ อาทิ กรณีที่มีการโต้แย้งว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชกำหนดใดมีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตลอดจนคดีที่มีการโต้แย้งกันว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีใด ๆ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มพิจารณาคำร้องเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2541
4. ศาลปกครอง เป็นศาลที่มีหน้าที่หลักในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง ซึ่งได้แก่ คดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างฝ่ายปกครองกับราษฎร เกี่ยวกับการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองในการสั่งการ หรือละเว้นการสั่งการ อาทิ การฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ให้เพิกถอนใบอนุญาต ไม่ออกใบอนุญาต ไม่จดทะเบียนสมรสได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้เปิดทำการเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544
การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีศาล 4 ประเภทข้องต้น เพื่อให้ศาลแต่ละประเภท ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องนั้น ๆ เป็นผู้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของตน
ที่มา : ห้องสมุดอีเล็กทรอนิกส์ศาลยุติธรรม